ยกของอย่างไร ห่างไกลปวด
อัปเดตเมื่อ 20 เม.ย. 2566
1. วางแผนเตรียมการก่อนยกและเคลื่อนย้ายวัตถุ
· ประเมินน้ำหนักของวัตถุ ว่าสามารถยกและเคลื่อนย้ายตามลำพังคนเดียวได้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถทำได้ ต้องหาคนช่วย ไม่ควรพยายามยกและเคลื่อนย้ายวัตถุที่หนักมากตามลำพัง
· ประเมินน้ำหนักสภาพแวดล้อม มีเนื้อที่ว่างมากพอในการยกหรือเคลื่อนย้ายของได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ มีสิ่งกีดขวางทางหรือไม่ ลักษณะพื้นเป็นอย่างไร ลื่นหรือไม่ และมีแสงสว่างเพียงพอหรือไม่
· หาอุปกรณ์ป้องกันหรือทุ่นแรง สำหรับช่วยยกหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของเพื่อลดการใช้แรงงานคน ใส่อุปกรณ์ป้องกันต่างๆ เช่น ถุงมือกันลื่น/กันถลอก รองเท้ากันลื่น/หัวโลหะป้องกันการบาดเจ็บจากสิ่งของหล่นทับหรือกระแทก เข็มขัดซัพพอร์ตหลัง
ทริค! จัดสรรลำดับการยกหรือเคลื่อนย้ายวัตถุ พยายามยกและเคลื่อนย้ายวัตถุที่มีน้ำหนักหนักสลับเบา เพื่อพักและลดความตึงตัวของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
2. การยกหรือเคลื่อนย้ายวัตถุ (ยกคนเดียว)
· ยืนชิดวัตถุที่จะยก วางเท้าให้ถูกต้อง เพื่อเพิ่มความมั่นคงและป้องกันการเสียสมดุลของร่างกายขณะยกวัตถุ ทำได้โดยเท้าข้างหนึ่งก้าวไปข้างหน้า (เท้านำ) อยู่ขนานกับวัตถุที่ต้องการยกเท้าอีกข้างอยู่ด้านหลัง (เท้าตาม)
· หากวัตถุอยู่ต่ำ เช่น อยู่บนพื้น ให้ย่อเข่าโดยจัดหลังให้อยู่ในแนวเส้นตรง รักษาส่วนโค้งเว้าตามธรรมชาติ จะช่วยให้แรงกดทับบนหมอนรองกระดูดสันหลังมีการกระจายตัวเท่าๆกันขณะยกวัตถุ
· จับวัตถุให้มั่นคง แขนชิดลำตัว และให้วัตถุที่ยกอยู่ชิดลำตัวให้มากที่สุด จัดวางวัตถุให้อยู่ระหว่างระดับหัวเข่าและสะโพก ที่สำคัญวัตถุที่จะยกต้องไม่สูงกว่าหัวไหล่
· ค่อยๆ ยืดขาขึ้น โดยเริ่มต้นจากการเกร็งหลังและท้อง ใช้แรงจากก้น สะโพก และต้นขาพร้อมกัน ขณะยืนขึ้นรักษาหลังให้อยู่ในแนวตรงตามส่วนโค้งเว้าธรรมชาติ
3. การยกหรือเคลื่อนย้ายวัตถุ (กรณียก 2 คน/มีผู้ช่วย)
· ทั้งสองคนยืนชิดวัตถุ คนหนึ่งยืนด้านหัวและอีกคนยืนด้านท้ายของวัตถุ ด้วยอิริยาบทเหมือนการยกรูปแบบยกคนเดียว ได้แก่ วางเท้านำ เท้าตามเพื่อความมั่นคง ย่อขาและรักษาหลังในแนวเส้นตรง รักษาความโค้งตามธรรมชาติของหลัง
· เมื่อทั้งคู่จับวัตถุอย่างมั่นคงแล้ว ให้สัญญาณการยกพร้อมกัน เช่น นับ หนึ่ง สอง สาม ยกและควรใช้ความเร็วในการยกเท่ากันเพื่อป้องกันการเสียสมดุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
· แขนชิดลำตัว และให้วัตถุอยู่ชิดตัวมากที่สุด ตำแหน่งของศีรษะอยู่ในแนวกระดูกสันหลัง ไม่ก้มหรือเงย โดยที่ในขณะยกและย้ายวัตถุจะต้องมองเห็นทางเดินอย่างชัดเจน
· หากวัตถุด้านหัวและท้ายมีน้ำหนักไม่เท่ากันและต้องยกหลายครั้ง ควรสลับกัน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บต่อระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
Comentarios